วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ภาษาคาราโอเกะ


ปัญหาภาษาไทยที่มีผู้โทรศัพท์สอบถาม
มายังราชบัณฑิตยสถานบ่อยครั้ง คือ
การขอให้ช่วยเขียนภาษาคาราโอเกะ
เมื่อได้ฟังรายละเอียดจากผู้ถามจึงได้ทราบว่า
สิ่งที่ต้องการให้ช่วยก็คือการเขียนเนื้อเพลง
ภาษาไทยให้เป็นอักษรโรมันนั่นเอง
โดยปรกติ แผ่นซีดีคาราโอเกะจะมีเนื้อเพลง
ปรากฏบนจอเพื่อให้ร้องตามได้
ซีดีคาราโอเกะที่ต้องการเอาใจชาวต่างชาติ
โดยเฉพาะเพลงที่ดัง ๆ นอกจากจะมีเนื้อเพลงไทยแล้ว
ยังมีคำอ่านที่เป็นอักษรโรมันกำกับไว้
เพื่อให้ชาวต่างชาติร้องตามได้อีกด้วย
คำตอบเกี่ยวกับวิธีเขียนภาษาคาราโอเกะ
คือการแนะนำให้ใช้หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทย
เป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง
ที่ราชบัณฑิตยสถานกำหนดขึ้นและประกาศใช้
ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒
หลักเกณฑ์นี้ใช้วิธีถ่ายเสียง (tran scription)
เพื่อให้อ่านคำภาษาไทยที่เขียนด้วยอักษรโรมัน
ให้ได้เสียงใกล้เคียง โดยไม่คำนึงถึง
การสะกดการันต์และวรรณยุกต์
เช่น จันทร์ = chan, พระ = phra, แก้ว = kaeo
ในหลักเกณฑ์ได้เทียบเสียงพยัญชนะ และสระ
ไว้อย่างละเอียด รวมทั้งหลักในการถอดคำประเภทต่าง ๆ
ตัวอย่างการเทียบเสียงพยัญชนะ เช่น
ป = p เมื่อเป็นทั้งตัวต้นและตัวสะกด
ฏ, ต = t เมื่อเป็นทั้งตัวต้นและตัวสะกด
ก = k เมื่อเป็นทั้งตัวต้นและตัวสะกด
ผ, พ, ภ = ph เมื่อเป็นตัวต้น
และเป็น p เมื่อเป็นตัวสะกด
ฐ, ฑ, ฒ, ถ, ท, ธ = th เมื่อเป็นตัวต้น
และเป็น t เมื่อเป็นตัวสะกด
ข, ฃ, ค, ฅ, ฆ = kh เมื่อเป็นตัวต้น
และเป็น k เมื่อเป็นตัวสะกด
บ = b เมื่อเป็นตัวต้นและเป็น p เมื่อเป็นตัวสะกด
ฎ, ฑ (เสียง ด) ด = d เมื่อเป็นตัวต้น
และเป็น t เมื่อเป็นตัวสะกด
ตัวอย่างการเทียบเสียงสระ เช่น
สระอะ, -ั (อะลดรูป), รร (มีตัวสะกด), อา = a
สระอิ, อี = i
สระอุ, อู = u
สระโอะ, - (โอะ ลดรูป), โอ, เอาะ, ออ = o
ภาษาคาราโอเกะของเนื้อเพลงดังท่อนหนึ่ง
เมื่อเขียนตามหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถาน
จะเป็นดังนี้
“นับเป็นช่วงชีวิตที่ดีที่สุด
แม้เป็นแค่เพียงเวลาสั้น ๆ
แต่ก็เคยเกิดขึ้นกับฉัน เพราะเธอ”
เขียนเป็นภาษาคาราโอเกะแล้ว
ก็จะเป็นแบบนี้
“Nap pen chuang chiwit thi di thi sut
mae pen khae phiang wela san san
tae ko khoei koet khuen kap chan phro thoe”.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น